ยินดีต้อนรับสู่เว็บไซต์ "นครโค้ด" รูปแบบใหม่ของเรา หากต้องการเข้าเว็บไซต์เก่าสามารถดูได้ที่ https://archive.nakorncode.com/

  1. คอร์สเรียนฟรี
  2. 1. Intro to Programming - บทนำของสายอาชีพพัฒนาโปรแกรม
  3. 2. เป็นโปรแกรมเมอร์เหนื่อยมากไหม?

2. เป็นโปรแกรมเมอร์เหนื่อยมากไหม?

  • ความยาวของวิดีโอ: 35 นาที 53 วินาที

การเป็นโปรแกรมเมอร์เหนื่อยขนาดไหน? ลองมาฟังประสบการณ์ตรงจากคนที่เป็นโปรแกรมเมอร์จริง และจากการสังเกตของบุคคลอื่นๆว่ารู้สึกอย่างไรกับงานนี้

สิ่งที่จะได้เรียนรู้ในบทนี้:

  • รับฟังจากประสบการณ์ตรง เกี่ยวกับความเหนื่อยยากของการเป็นโปรแกรมเมอร์
  • เปรียบเทียบการพัฒนาโปรแกรมกับวิชาความรู้อื่นๆ
  • การจัดการความเหนื่อยล้าในงานพัฒนาโปรแกรม
  • เข้าใจถึงรูปแบบการทำงานของโปรแกรมเมอร์ ที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกของตัวเรา

หนีไป!

ในกลุ่มโปรแกรมเมอร์ต่างๆ หากมีคนโพสต์ถามเกี่ยวกับ “อยากเป็นโปรแกรมเมอร์ต้องทำอย่างไร?” จากนั้นจะมีคนคอยตอบว่า “หนีไป” และเป็นความเห็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุดเสมอ

ถ้าให้ตอบแบบภาพรวม สำหรับความเห็นของผมแล้ว คำว่าหนีไปก็คงไม่ผิดซะทีเดียว เพราะงานโปรแกรมเมอร์เป็นงานที่ใช้สมองในการแก้ไขปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับองค์กร หรือเกิดขึ้นกับกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันไป และเราจะเป็นผู้แก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนหรือยุ่งยากเหล่านั้น ซึ่งแต่ละปัญหานั้นบางครั้งเราก็แก้ไขไม่สำเร็จ ซ้ำอาจจะถูกกดดันหนักๆได้ จึงทำให้เป็นงานที่ มีความเครียดสูง ได้เช่นกัน

แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างอื่นด้วย เรามาดูกันว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่ผมอยากจะสรุปให้ฟัง

การศึกษาเพื่อเป็นโปรแกรมเมอร์

เรื่องแรกที่เราจะพูดกันคือ การศึกษา เพราะเป็นก้าวแรกที่เราจะเข้าสู่การเป็นโปรแกรมเมอร์ แล้วเราจะสามารถทำงานได้ดีแค่ไหน จัดการกับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ก็จะอยู่ที่ระดับการศึกษาของเรา

สรุปก่อนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเป็นโปรแกรมเมอร์ได้

  • ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำอาหารได้อร่อย บางครั้งจึงเป็นเรื่องของพรสวรรค์ และความเข้ากันระหว่างงานกับตัวเรา
  • โปรแกรมเมอร์จำเป็น ต้องมีประสบการณ์ใช้งานเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ระดับหนึ่ง ซึ่งบางคนขาดโอกาส อาจจะเพิ่งเริ่มใช้งานคอมพิวเตอร์ไม่นานนัก จึงเข้าใจคุณศัพท์และคุณสมบัติต่างๆยากระหว่างการศึกษา
  • หรือบางครั้งอาจจะเคยใช้คอมพิวเตอร์มานาน แต่ไม่ค่อยได้ทดลองทำอย่างอื่น เช่น ใช้เพื่อความบันเทิงอย่างเดียว และใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทำเรื่องซ้ำๆ ก็ทำให้ไม่ค่อยเข้าใจภาพรวมของคอมพิวเตอร์ได้
  • แต่การพยายามเข้ามาเป็นโปรแกรมเมอร์ ก็ถือว่าเป็น ก้าวแรก ที่เราสนใจเรื่องอื่นๆในคอมพิวเตอร์ เพียงแต่อาจจะ ต้องใช้เวลานาน

โปรแกรมเมอร์ไม่ใช่สิ่งที่จะเรียนไม่กี่เดือนแล้วทำได้ดี

  • อย่างที่ได้กล่าวไว้ว่า ยิ่งมีประสบการณ์ใช้งานคอมพิวเตอร์เยอะก็ยิ่งทำให้เรามีโอกาสเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
  • แต่การพัฒนาโปรแกรมจะมี ความซับซ้อนสูง และมีโอกาสพบเจอ ปัญหาใหม่ๆ ให้เราแก้ไขตลอดเวลา จึงทำให้การเดินก้าวแรกจะต้องพบเจอปัญหาที่หลากหลายอย่างมาก กว่าที่เราจะเริ่มเข้าใจภาพรวมการพัฒนาโปรแกรม และ ทำได้ดีขึ้นในภายหลัง
  • ไม่มีระยะเวลาชัดเจน ว่าเราจะต้องเรียนกี่เดือน เพราะขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละคน และเวลาว่างในการศึกษา
  • ถ้าประเมินจากตัวผมเอง ที่ตอนเด็กรู้จักคอมพิวเตอร์จากการเล่นเกม และชอบค้นคว้าวิธีการเล่นเกมผ่านการอ่านเนื้อหาภาษาอังกฤษมาเยอะ รวมทั้งชอบการใช้สื่อสังคมออนไลน์ หากผมเรียนสัปดาห์ละ 5 วัน โดยทุกๆวันเรียนวันละ 5 ชั่วโมง โดยต้องเลือกเรียนกับเนื้อหาที่มีคุณภาพ เช่น เรียนผ่านคอร์สเรียนตามหัวข้อที่ซื้อผ่าน Udemy รวมทั้งเราต้องฝึกฝนสร้างโปรเจกต์ของตนเอง ผมน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีถึงจะสามารถพัฒนาเว็บแอปของตนเองได้ดี
  • ไม่ใช่ทุกคนที่จะเรียนได้อย่างสม่ำเสมอ และเรียนได้นานต่อเนื่อง ผมจึงใช้เวลาตั้งแต่อายุ 14 ปีที่เริ่มฝึกพัฒนาโปรแกรม จนอายุประมาณ 24 ปีกว่าจะรู้สึกว่าทำได้ดี สรุปก็คือใช้เวลามากกว่า 10 ปี แต่ตอนเริ่มต้นตอนนั้น ผมก็ไม่ได้ตั้งใจเรียนมาก มัวแต่เล่นเกมส่วนมาก (ทุกวันนี้ก็ยังเป็น) จึงเป็นเรื่องจัดการระเบียบการเรียนรู้ของเรา เพราะต้องใช้เวลาอย่างสม่ำเสมอกับความตั้งใจในการเรียนรู้ ก็จะทำให้เราเรียนรู้เป็นได้เร็วขึ้น

เทียบความยากระหว่างการพัฒนาโปรแกรมกับวิชาความรู้อื่นๆ

  • ตรงนี้คิดว่ามันขึ้นอยู่กับตัวเรา ถ้าชอบอะไรก็จะเรียนวิชานั้นๆได้ดี ซึ่งผมชอบคอมพิวเตอร์ เพราะชอบเล่นเกม และเล่นเน็ตมาตั้งแต่เด็ก
  • โดยรวม ผมคิดว่าการเรียนพัฒนาโปรแกรมเป็นเรื่อง เข้าใจง่าย เพราะระหว่างฝึกฝนเราจะ เห็นผลลัพธ์ทันที ว่าโค้ดที่เราเขียนลงไปทำงานได้ถูกต้องอย่างไรบ้าง หรือแสดงผลออกมาทันมีเมื่อแก้ไขโค้ด
  • อาจจะเป็นนิสัยส่วนตัวของผมต่อการเรียนรู้ เวลาผมจะเรียนอะไรจะอยากเห็น ผลลัพธ์ ของการเรียนนั้นๆ อย่างเรียนแล้ว นำไปใช้จริง ได้เลย รู้ว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร ก็ยิ่งเพิ่มพูนความอยากเรียนรู้ให้กับผมมากขึ้น ดังนั้นจึงทำให้เนื้อหาวิชามัธยมที่หลายอย่างมักจะ ไม่รู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร จะเกิดประโยชน์อะไรในการดำรงชีวิตของผมอย่างไร ผมจึงได้เกรดค่อนข้างแย่อย่างมาก ยกเว้นวิชาคอมพิวเตอร์ ได้เกรดสี่หมดทุกปี
    • หมายเหตุ: ผมจบมัธยมได้เกรดประมาณ 2.3 ผลของการไม่ชอบวิชาอื่นๆเท่าไหร่เลย
  • จึงทำให้การเรียนพัฒนาโปรแกรมอาจจะคล้ายๆกับการเรียนทำอาหาร ที่เมื่อทำออกมาสำเร็จแล้วเราจะได้ผลลัพธ์พร้อมเสิร์ฟทันที

ความยากง่ายต่อผู้เรียนรู้ จะขึ้นอยู่กับว่าต้องการความท้าทายแค่ไหน

  • บางครั้งการ ชอบความท้าทาย อาจจะ ส่งผลเสีย ต่อการเรียนรู้พัฒนาโปรแกรมได้ เพราะเราควรเลือกใช้สิ่งที่ง่ายและสะดวก ก่อนเริ่มฝึกใช้ในสิ่งที่ยากมากขึ้นตามความจำเป็น ยกตัวอย่างเช่น
    • การเลือกใช้ Code Editor อย่าง Vim จะใช้งานยากและเหมาะกับขั้นสูง ดังนั้นเริ่มต้นเลือกใช้ Visual Studio Code ก่อนจะดีกว่า
    • การเลือกภาษาโปรแกรม ไม่จำเป็นต้องเรียน ภาษา Assembly เพราะเป็นภาษาที่ยาก และปัจจุบันถูกพัฒนาจนกลายเป็นภาษาที่ง่ายกว่า เช่น ภาษา C แต่ถึงอย่างไรภาษานี้จะยังจัดว่ายากอยู่บ้าง และถูกพัฒนาต่อยอดเป็นภาษาที่ง่ายกว่านั้นเพื่องานขนาดเล็กลง ลดความซับซ้อน อย่างปัจจุบันจะมี JavaScript, Python, PHP, Golang ซึ่งเป็น ที่นิยมในไทย และ มีความง่าย การเรียนรู้กับใช้งาน สำหรับงานแต่ละประเภท
  • สุดท้ายเวลาเราพัฒนาโปรแกรมนำไปใช้งานจริง เราก็จะไม่ได้เลือกของยาก จะมีแต่ว่าพยายาม เลือกของ ง่ายที่สุด และสามารถทำงานได้อย่าง ตอบโจทย์ หรือเลือกใช้งานที่ผู้อื่นได้พัฒนาไว้แล้ว เราก็นำมาใช้ต่อโดยไม่ต้องสร้างใหม่ทั้งหมด เช่น การเลือกใช้งาน Framework ต่างๆ
  • บางครั้ง งานยากก็มีความจำเป็นได้ เช่น กรณีที่ต้องการประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด หรือสามารถทำงานร่วมกับ Hardware ได้อย่างดี ปัจจุบันก็จะเป็น ภาษา Rust ซึ่งจะมีความยากการเรียนรู้มากขึ้น

โดยสรุปแล้ว จะยากหรือง่ายในการเรียนพัฒนาโปรแกรม ก็ขึ้นอยู่กับความถนัดและความชอบบุคคล และจะใช้เวลาเรียนรู้นานหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามีให้การเรียนรู้มากน้อยแค่ไหน

ความเหนื่อยของโปรแกรมเมอร์: งานประจำ

  • มักจะมี รายได้สูงกว่าอาชีพอื่น ตามความสามารถของเรา แต่ก็แน่นอนว่างานอาจจะ เหนื่อย กว่าอาชีพอื่นๆได้ด้วย
  • เป็นงานที่ ใช้สมองในการทำงาน จึงทำให้เรามักจะต้องพบกับสิ่งแปลกใหม่ให้เรียนรู้อยู่เสมอ ไม่ใช่อาชีพที่ใช้แรงกายเป็นหลัก อย่างกุ๊กที่จะประกอบอาหารรสชาติเดิมๆในเมนูซ้ำๆเมื่อได้รสชาติที่อร่อยแล้ว งานโปรแกรมเมอร์อาจจะเหมือนกับนักวาดภาพหรือนักแต่งเพลง ที่ต้อง สร้างสรรค์ สิ่งใหม่ๆตลอดเวลา ถึงแม้ว่าจะยังสามารถใช้เทคนิคเดิมๆได้ เหมือนคนที่ก็แต่งเพลงแนวเดิมๆที่เหมาะสำหรับเขา
  • มีโอกาสได้ทำงานแบบ Remote Work บางครั้งเรียกว่า Work From Home (WFH) หรือ Work From Anywhere (WFA) แต่นั้นก็อาจจะทำให้เราถูกมอบหมาย นอกเวลางาน ได้เช่นกัน หรืออาจจะมีแนวโน้มสามารถแก้ไขระบบที่ล่มตอนเที่ยงคืนได้ และการตอบแชทนอกเวลางานจึงถือเป็นเรื่องปกติของโปรแกรมเมอร์ด้วย
  • บางวันในเวลาทำงาน ก็ไม่มีอะไรให้ทำ บางครั้งเราสามารถเปิดเกม เปิดดูซีรี่ย์ระหว่างเวลางานได้ แต่ก็ตามมารยาทการปฏิบัติของเราต่อบริษัท หรือเป็นไปตามเงื่อนไขของบริษัท เมื่อเราว่างในระหว่างเวลางานเราจะทำอะไรได้บ้าง ตามหลักแล้วก็ควรหาหัวข้อศึกษาเพิ่มเติมแทน
  • ปัญหาของเพื่อนร่วมงาน และ Toxic Workplace ซึ่งจะเป็นปัญหาทั่วไป แต่จริงๆแล้วเรื่องพวกนี้เราก็พบเจอได้ตั้งแต่ตอนเรียนที่โรงเรียนแล้ว เราจะสามารถเจอเพื่อนหรือครูที่เราไม่ชอบได้ เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าและเจ้านายเรา
  • ส่วนมากงานเราจะมี ผลกระทบใหญ่โต หากมีความผิดพลาด เช่น แผนกงานอื่นไม่สามารถทำงานได้ ลูกค้าใช้งานไม่ได้ หากเราทำอะไรผิดพลาดลงไปจึงเป็นเรื่องใหญ่เสมอ จึงมีความรับผิดชอบสูงมาก ตามจำนวนเงินเดือนที่ได้รับ
  • แต่นั้นก็เลยอาจจะทำให้เรา ได้รับคำติชมที่ดี อย่างมาก หากเราทำบางงานสำเร็จ เราจะดูหล่อเท่ขึ้นมาทันที กลายเป็นบุคคลสำคัญประจำบริษัทได้ ถึงได้เป็นเหตุผลนึงที่บางวันเราก็ไม่มีอะไรทำ แต่เขาก็ยังจ้างงานเรา เพราะต้องให้เราดูแลระบบต่อไป
  • บริษัทอาจจะมีแนวโน้มนำสิ่งใหม่ๆให้เราลองใช้ หรือบังคับให้ใช้ เช่น การเปลี่ยนภาษาโปรแกรม จะทำให้กระทบกับความรู้เดิมที่เรามี อาจจะนำมาใช้ไม่ได้ทั้งหมด จำเป็นต้องเรียนรู้ใหม่บางส่วน จึงเป็นงานที่ต้องหมั่น ศึกษาเรื่องใหม่ ค่อนข้างบ่อยครั้ง
  • การสมัครงานและการแข่งขัน อาจจะมีความเหนื่อยเหมือนกับบางอาชีพ ที่การเปิดรับสมัครพนักงานจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะรับใครก็ได้ เขาอาจจะต้องการคนที่เก่งมากๆ จนคนที่จบใหม่อาจจะมีปัญหาการหางานได้ และจำเป็นต้องแข่งกับผู้อื่นที่ก็เป็นโปรแกรมเมอร์เช่นกัน

ความเหนื่อยของโปรแกรมเมอร์: งานฟรีแลนซ์

  • ถึงแม้งานจะ อิสระ สามารถเลือกทำเวลาใดก็ได้ แต่ก็ ไม่ได้แปลว่าจะมีงานให้เราทำบ่อยครั้ง ต้องอาศัยจังหวะ โอกาส และการเข้าถึงผู้คนเพื่อนำเสนอโปรเจกต์ที่เราทำได้ จึงอาจจะต้องมี ความกระตือรือร้น มากกว่างานประเภทอื่น
  • ในหลายครั้งเรา มีโอกาส เลือกภาษาโปรแกรมและเครื่องมือที่ต้องการได้ จึงเป็นเรื่องดีมากกว่างานบริษัทประจำ ที่มักจะถูกบังคับใช้
  • เปิดโอกาสให้เราเริ่มต้นสายงานนี้ด้วยตนเองได้ โดยไม่ต้อง พึ่งวุฒิการศึกษาแบบพนักงานประจำ แต่เราจำเป็นจะต้องมีโปรเจกต์ส่วนตัวในการแสดงประสิทธิภาพของเรา เพื่อเพิ่มความมั่นใจแก่ลูกค้า และมีแนวโน้มที่การแข่งขันจะสูงในอีกรูปแบบ ที่เราอาจจะได้งานฟรีแลนซ์ยากหากมี Connection น้อยกว่า
  • จำเป็นต้อง บริหารเอง ทั้งหมด ดั่งเราได้เปิดบริษัทรับสร้างซอฟต์แวร์ และเราก็จะต้องทำงานคนเดียวทั้งหมด ไม่ว่าจะเริ่มต้นหาลูกค้า คุยกับลูกค้า ออกแบบระบบ ทำตัวอย่างให้ดู ออกแบบระบบ ทำข้อตกลง ทำสัญญา เริ่มเขียนโค้ด ส่งความเคลื่อนไหวของตัวงานให้ลูกค้าดูเป็นพักๆ รับเงินเป็นรอบตามตกลง จากนั้นจบงานและรับเงินทั้งหมด และอาจจะมีการดูแลระบบหลังจบงานด้วย ก็เลยบ่งบอกว่าเป็นงานที่เหนื่อยกว่าพนักงานประจำอย่างมาก เพราะต้องทำคนเดียว หรือถ้าเราจ้างคนอื่นช่วยทำ มันจะเริ่มเหมือนเราเป็นเจ้าของบริษัทที่มีพนักงานขึ้นมาแล้ว และจะต้องมีต้นทุนกับเรื่องอื่นๆที่ทำให้ยากมากขึ้น
  • ปัญหาของเงิน และการสื่อสารร่วมกับลูกค้า ถ้าได้ลูกค้าคุยง่าย งานจบง่ายก็ดี แต่ว่าหลายครั้งลูกค้าก็อาจจะไม่จ่ายเงินเราครบถ้วน หรือยกเลิกงานกลางคัน และเป็นไปได้ว่าลูกค้าอาจจะให้แก้งานเรานอกเหนือจากที่ตกลงไว้หลายรอบ การดูคนให้ออกว่าลูกค้าคนนี้น่าร่วมงานด้วยกันหรือไม่ จึงเป็น เรื่องยาก อีกเรื่องสำหรับสายงานประเภทนี้

ความเหนื่อยของโปรแกรมเมอร์: งานส่วนตัว

  • บางคนอาจจะอยากพัฒนาโปรแกรมเป็นของตนเอง และจำหน่ายหรือสร้างรายได้ด้วยวิธีหนึ่งให้แก่ตนเองทั้งหมด อาจจะเป็น เรื่องยากมากที่สุด ในสามประเภทนี้ เพราะเป็นไปได้ว่าโปรแกรมนั้นอาจจะมีคนสร้างไว้อยู่แล้ว และยิ่งเป็นโปรแกรมที่บริษัทเป็นคนสร้าง เราอาจจะแข่งขันด้วยลำบากจากจำนวนแรงงานของคนที่เขามี และประสบการณ์ที่เขาอาจจะเคยทำโปรแกรมนี้มาก่อน
  • ให้คิดตามหลักการนี้ก่อนว่า “เราคิดได้ คนอื่นก็คิดได้” เราอาจจะมีไอเดียเจ๋งๆที่อยากเปลี่ยนโลกใบนี้ แต่ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะมีคนอื่นคิดได้เช่นกัน เพียงแต่ใครจะ ลงมือทำ ก่อนเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก และใครจะทำได้ดีกว่ากัน นอกจากนี้บางโปรแกรมอาจจะจำเป็นต้อง มีทุนสูง การเริ่มต้นจากทุนส่วนตัวจึงอาจจะเป็นไปได้ยากเช่นกัน เพราะมีหลากธุรกิจ ที่ต้องเริ่มจากการเปิดให้ผู้ใช้งานได้ใช้ฟรีๆก่อน ระหว่างนั้นจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
    • ยกตัวอย่าง YouTube สมัยแรกที่ก็ไม่มีโฆษณา เพื่อ ดึงดูดจำนวนผู้ใช้งาน เข้ามา แต่สามารถแบกรับภาระค่าสตรีมมิ่งวิดีโอหลายล้านบาทต่อเดือนได้ ก่อนที่จะเริ่มมีโฆษณาเพื่อสร้างรายได้ในภายหลัง
  • ในโลกใบนี้ มีทุกอย่างค่อนข้างครบถ้วน คุณสามารถค้นหาโปรแกรมอะไรก็ได้ในเน็ต ก็อาจจะพบกับโปรแกรมที่คุณอยากได้ทุกอย่าง แต่การสร้างเองก็จะช่วยให้เราสามารถปรับปรุงโปรแกรมนั้นๆให้เข้ากับงานของเรามากที่สุดได้ ดังนั้นการเรียนเพื่อเป็นโปรแกรมเมอร์ และอาจจะอยากได้บางโปรแกรมมาใช้งานเอง แต่ก็ไม่อยากซื้อของคนอื่นมาใช้งาน การสร้างเองก็อาจจะเป็นทางออกที่ดี เพียงแต่บางครั้งตัวโปรแกรมมันอาจจะ ไม่ได้มีราคาแพงเลย เช่น ราคาหลักพัน เราอาจจะยอมซื้อมาใช้งานก็อาจจะดีกว่ามาสร้างใหม่เองทั้งหมด

บทสรุป

ก็คง ไม่มีอาชีพไหนที่ไม่เหนื่อยเลย เพียงแต่มันจะเหนื่อยต่างรูปแบบกันไป ขนาดเราเล่นเกมพักผ่อนบางทีก็เหนื่อยจากการเจอศัตรูที่เก่งกาจ หรือไปเที่ยวขับรถไกลๆเราก็เหนื่อยล้าได้เหมือนกัน เอาจริงๆบางคนนอนหายใจเฉยๆยังเหนื่อยได้นะ แต่มนุษย์บางครั้งก็ เสพติดความเหนื่อย ถ้าเราเอาสิ่งที่เรียกว่าเหนื่อย มองเป็นมุมใหม่ว่าเราได้อะไรตอบแทนจากการทำสิ่งนั้นลงไป น่าพอใจหรือไม่ มันก็จะทำให้สิ่งที่เราเคยคิดว่าเหนื่อย กลายเป็นรางวัลให้แก่เราได้ การเป็นโปรแกรมเมอร์เพื่อสร้างรายได้ ก็ถือเป็นรางวัลอย่างหนึ่งที่เกิดจากความเหนื่อย

  • Tags:
  • programmer
  • โปรแกรมเมอร์
  • อาชีพโปรแกรมเมอร์
  • ความเหนื่อย
  • การทำงาน
  • ความเครียด
  • การทำงานหนัก
  • ความกดดัน
  • programmer-fatigue
  • work-stress
  • programmer-stress
  • programmer-burnout
  • programmer-life
  • programming-career
  • workload